เทคนิคการเลือกซื้อราวจับให้พ่อแม่

 


หลายคนเคยยืนงง ตอนที่จะเลือกซื้อราวให้พ่อแม่ หรือผู้สูงอายุที่บ้านใช้ รูปร่างหน้าตาเยอะแยะไปหมด แบบไหนเป็นแบบไหน คนใช้ไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้ใช้ วันนี้เราเลยจะมาบอก  เทคนิคง่ายๆ ในการซื้อราวจับติดในห้องน้ำ ให้ผู้สูงอายุที่บ้าน เพื่อความปลอดภัย และตรงกับการงาน


ก่อนอื่นต้องอธิบายถึงตำแหน่งตำแหน่งติดตั้งราวจับก่อน จุดที่ควรติดตั้งราวจับในห้องน้ำมี 5 ที่

1. ชักโครก 2. ที่อาบน้ำ 3. อ่างล้างหน้า  4.ทางเดินที่เข้าไปในห้องน้ำ 5. ประตูห้องน้ำ

สำหรับเทคนิคการซื้อ “ราวจับติดที่ชักโครก”

1. เช็คตำแหน่งชักโครก
1.1 กรณี กึ่งกลางชักโครกห่างจาก ผนัง 45-50 ซม. จะมีตำแหน่งติดราวจับ 2 ด้านคือติดด้านที่ชิดกับผนังและด้านที่ไม่มีผนัง

- ด้านที่ชิดผนัง แนะนำให้เป็นราวจับรูปตัว L (ขนาดยาว 60 × 60 ซม.ขึ้นไป) โดยราวแนวตั้งยาวมากกว่าหรือเท่ากับราวแนวนอน เพราะว่าเวลาที่ผู้สูงอายุย้ายตัวจากวีแชร์จะต้องยืนจับราวแนวตั้ง แล้วค่อยๆหย่อนก้นนั่งหรือเวลาจะดึงตัวเองขึ้นมาจากชักโครกก็จะดึงเราจับในแนวตั้ง ดังนั้นหากราวตัว L ที่เราจับในแนวตั้งสั้นกว่า ราวอันนั้นจะใช้ไม่ได้เลย
อีกอย่างการที่จะดึงตัวเองขึ้นมาได้นั้น ราวแนวตั้งต้องยื่นล้ำออกมาจากหน้าชักโครกประมาณ 25 – 30 ซม.หากติดอยู่ในแนวชักโครกหรือถอยเข้าไปด้านหลังจะทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถดึงตัวเองขึ้นมาได้
ราวในแนวนอนมีไว้เพื่อพยุงหรือดันตัวเองขึ้นมาจากชักโครก ดังนั้นจึงไม่ควรติดสูงเกินไปเพราะจะทำให้ไม่มีแรงพยุงขึ้นมา



- ด้านที่ไม่ติดผนัง แนะนำให้ใช้ราวจับแบบพับเก็บได้ในแนวดิ่ง เพราะมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า ไม่กีดขวางการย้ายตัวของผู้สูงอายุ หรือการช่วยเหลือของผู้ดูแล
             หลายคนมีงบจำกัด จึงใช้ราวแบบ
fix ตั้งพื้น ซึ่งหากผู้สูงอายุยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ ราวจับแบบ fix ตั้งพื้นก็ยังไม่มีปัญหา แต่ในอนาคตที่ต้องมีผู้ดูแลช่วยพยุง หรือช่วยทำความสะอาด ราวแบบ fix นี้จะกีดขวางการใช้งาน


1.2 กรณี ชักโครก ตั้งอยู่กลางห้องน้ำ ไม่ชิดผนังเลย แนะนำให้ใช้ ราวจับแบบพับเก็บได้ในแนวดิ่ง ทั้ง 2 ด้าน เพราะหากต้องมีการย้ายตัวจากวีลแชร์มายังชักโครก ถ้าใช้ราวจับแบบที่ยึดติดกับพื้น จะเป็นอุปสรรคในการย้ายตัว


2. ขนาดราวจับ
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของราวจับ ในท้องตลาดทั่วไป จะพบขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 25, 32, 38 มม. (แต่ถ้าเป็นท่อสแตนเลสหรือท่อแป๊บน้ำ ที่ซื้อท่อมาทำเอง บางทีช่างจะเข้าใจผิดใช้ขนาด 50 มม.หรือ 2 นิ้วซึ่งถือว่าใหญ่เกินไปไม่เหมาะสม) แนะนำให้ใช้ขนาด 32 หรือ 38 มม.

วิธีเลือก ให้กำมือรอบตัวราวจับ หากกำแล้วมิด ถือว่าสามารถจับได้แน่น มีความปลอดภัย ส่วนใหญ่ผู้หญิงน่าจะใช้ขนาด 32 มม. ส่วนชายน่าจะใช้ขนาด 38 มม.


3. วัสดุ

หลายๆคนเข้าใจว่า วัสดุสเตนเลสนั้นไม่ขึ้นสนิม แต่จริงๆแล้วสเตนเลสมีหลายเกรด ราวจับที่ใช้ในห้องน้ำจึงแนะนำให้เลือกซื้อเกรด 304  อย่างไรก็ดี การทำความสะอาดห้องน้ำต้องระวัง อย่าให้น้ำยาทำความสะอาดไปกัดกร่อนสารเคลือบผิว ซึ่งอาจจะทำให้คราบถาวรหรือขึ้นสนิมได้

ปัจจุบันนอกจาก วัสดุสเตนเลสแล้ว ราวจับทำมาจากวัสดุหลากหลายชนิด, ตัวเคลือบผิว หรือมีสีสันให้เลือกมากมาย เพื่อความสวยงามและไม่ดูเป็นโรงพยาบาลมากเกินไป

4. งบประมาณ
หากมีงบประมาณจำกัดในการซื้อราวจับตัว L ลูกหลานสามารถซื้อราวจับ ตัว i 2 ตัว มาต่อกันได้ ตัวนึงแนวตั้ง และตัวนึงแนวนอน โดยทั้งสองตัวไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัก็ได้ ก็จะช่วยประหยัดงบลงได้ 10-15%


เทคนิคการซื้อ “ราวจับติดที่อาบน้ำ”

5. ตำแหน่งติดตั้ง ให้พิจารณาจากตำแหน่งการอาบน้ำ บางคน หันด้านข้างให้ฝักบัว บางคนหันหน้าให้ฝักบัว ดังนั้นราวจับที่อาบน้ำ ควรติดด้านตั้งฉากกับที่นั่งอาบน้ำ ลักษณะการใช้จึงเป็นแบบเดียวกับชักโครก คือทั้งราวแนวตั้งและแนวนอน แต่หากใช้เพื่อเป็นราวเกาะขณะยืนอาบน้ำ ให้ติดผนังเดียวกับฝักบัวได้เลย


เทคนิคการซื้อ “ราวจับติดอ่างล้างหน้า”

6. ผู้สูงอายุหลายท่านใช้เวลาในการทำธุระหน้าอ่างล้างหน้าค่อนข้างนาน บางครั้งอาจจะมีการผ่อนแรงหรือทิ้งนำหนักตัวเกาะขอบอ่างล้างหน้า ซึ่งค่อนข้างจะเป็นอันตรายเพราะอ่างล้างหน้าบางชนิด เช่น อ่างล้างหน้าแบบแขวน ไม่ได้มีตัวยึดที่แข็งแรงพอที่จะรองรับน้ำหนักคนเกาะขอบอ่าง ดังนั้นจึงควรมีราวจับเสริมเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้ปลอดภัย

จึงแนะนำให้ใช้ราวจับแบบพับเก็บได้ในแนวดิ่ง ติดสูงเสมอขอบอ่างล้างหน้า โดยมีระยะห่างจากขอบอ่างประมาณ 5-10 ซม.เพื่อให้เกาะได้สะดวก

หลายๆคนมักเข้าใจผิด ในการนำราวจับแบบ Fix มาติดข้างอ่างล้างหน้า ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะ ความสูงขาราวจับเพียง 70 ซม. แต่อ่างล้างหน้าสูง 80 ซม.  หรือ ราวจับข้างอ่างที่มีราวด้านหน้าอ่าง ราวจับตรงกลางนั้นจะกีดขวางการใช้งานของผู้สูงอายุใช้วีลแชร์ได้


เทคนิคการซื้อ “ราวจับติดทางเดินในห้องน้ำ”

ราวจับนี้จำเป็นเมื่อไร?

7. ให้ลูกหลานลองสังเกตผู้สูงอายุที่เดินเกาะผนังบ้านเพื่อพยุงตัวเอง เดินตามทางเดิน  ท่าทางแบบนี้ก็น่าจะเป็นแบบเดียวกันเมื่ออยู่ในห้องน้ำ ดังนั้เพื่อความปลอดภัยจึงควรมีราวจับยาวๆ ช่วยให้ท่านได้พยุงตัวเอง ดีกว่าเกาะผนังห้องน้ำ
ห้องน้ำบางบ้านมีลักษณะที่เป็นหน้าแคบลึก หรือบางบ้านมีห้องน้ำขนาดใหญ่ แนะนำให้เพิ่มราวจับติดทางเดินเพื่อนำไปยังสุขภัณฑ์ หรือพื้นที่อาบน้ำ เพื่อความปลอดภัย




เทคนิคการซื้อ “ราวจับติดข้างประตูห้องน้ำ”

ราวจับนี้จำเป็นด้วยหรือ? คงเป็นอีกคำถามนึงที่ลูกหลานสงสัย

8. ลักษณะการใช้งานราวจับนี้ คล้ายๆกับ ข้อที่ 7 คือ ผู้สูงอายุมักจะขอบผนัง หรือขอบวงกบ เวลาที่จะก้าวเปลี่ยนระดับ เพื่อรักษาสมดุลร่างกาย ดังนั้นถ้าลูกหลานเห็นพฤติกรรมผู้สูงอายุเป็นแบบนี้ ให้รีบซื้อราวจับตัว i (ความยาว 30-40 ซม.) มาติดทีข้างประตูโดยเร็ว  จริงๆแล้วไม่ใช่แค่ข้างประตูห้องน้ำ แต่ข้างประตูทุกบานที่ผู้สูงอายุใช้งานและมีการเปลี่ยนระดับหรือมีธรณีประตู ก็จำเป็นเช่นเดียวกัน















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula UDC) เปิดให้บริการฟรีเป็นที่แรกในประเทศไทย